ปูชนียวัตถุของวัดใหม่ทองเสน

ปูชนียวัตถุของวัดใหม่ทองเสน

ปูชนียวัตถุของวัดใหม่ทองเสน ที่สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น มีความเป็นมาอย่างไร คณะกรรมการวัดใหม่ทองเสนในสมัยนั้น จึงได้เชิญอาจารย์ เขียน ยิ้มศิริ รักษาการตำแหน่ง คณบดี คณะจิตกรรม – ประติมากรรม และภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร มาตรวจดูโบราณวัตถุของวัด และท่านได้อธิบายความละเอียดให้ไว้ดังนี้

อุโบสถ

อุโบสถ วัดใหม่ทองเสน
อุโบสถ วัดใหม่ทองเสน

อุโบสถ นี้เป็นอุโบสถชนิดไม่มีระเบียง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร หลังคาทรงสูง 2 ชั้น ยื่นออกมาจากผนังน้อยมาก จึงไม่มี ทวยไม้ค้ำ ไม่มีช่อฟ้า แต่ตรงของหลังคา เป็นปูนปั้นลายกนกตลอดแนว หน้าบันอุโบสถทำเป็นลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ประดับด้วยกระจกสี หน้าอุโบสถมีประตูเข้าเพียงประตูเดียว แต่ทางด้านข้างทั้งสอง มีประตูเข้าข้างละประตูคล้ายกับว่า ถ้าไม่มีงานจำเป็นจริงๆ แล้ว จะไม่มีการเปิดประตูด้านหน้าเลย และด้านข้างทั้งสองของอุโบสถ จะมีหน้าต่างข้างละ 5 ช่อง ด้านหลังอุโบสถ มีประตูเข้าอีกหนึ่งประตู และอุโบสถนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2371

อุโบสถหลังนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2371
อุโบสถหลังนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2371

 

โดยรอบอุโบสถ มีลานซีเมนต์คอนกรีต และมีกำแพงล้อมรอบ ทั้งมีใบเสมาทำด้วยหินอ่อนเป็นเสมาคู่ ทุกซุ้ม คือ ด้านข้างเรียงเป็นแถวเดียวกัน 3 ซุ้ม ส่วนด้านหน้าและด้านหลังอุโบสถด้านละซุ้ม คิดว่าใบเสมาเก่าแก่ดั้งเดิมนั้นได้หักพังไปหมดในช่วงที่เป็นวัดร้างอยู่นั้น ส่วนงานลาดซีเมนต์ทำกำแพงแก้ว ทำซุ้มเสมาต่างๆ เหล่านี้ ทราบว่าพระอธิการบุ่ง เป็นผู้บูรณะทำเพิ่มเติมขึ้นมา

ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างอุโบสถ

ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างอุโบสถนั้นเป็นงานปูนปั้นมีลวดลายสวยงามมาก ถ้าเราสังเกตดูลวดลายแล้ว จะเห็นว่าเป็นลวดลายแบบศิลปะจีนผสมศิลปะบารอค ที่กล่าวว่า เป็นศิลปะจีนก็เพราะว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น ไทยเรากำลังนิยมศิลปะจีนและศิลปะบารอค ซึ่งฝรั่งเศส ได้นำมาสู่เมืองไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ความนิยมศิลปะทั้งสองนั้นยังคงมีอย่างช่างที่ทำจึงได้นำมาผสมเข้ากันกับศิลปะบารอค เป็นคำซึ่งใช้เรียกลวดลายที่มีลักษณะมั่นคงอลังการจนเกินไป ดูรกรุงรัง เดิมที่ใช้เรียกกันว่า ศิลปะของประเทศอิตาลี ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 ซึ่งเป็นสมัยที่เสื่อมต่อเนื่องมาจากสมัยเรนองซอง ดูจากหนังสือจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างนนทบุรี หน้า 14 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และงานปูนปั้นของซุ้มประตูและหน้าต่างอุโบสถนี้ได้ชำรุดหักพังไปบ้างตามสภาพ แต่ก็ยังคงมีสภาพลักษณะสวยงามอยู่ดี

ซุ้มประตูกำแพงแก้ว
ซุ้มประตูกำแพงแก้ว

ภาพเขียนสีบนผนังอุโบสถ

เมื่อเข้าไปในอุโบสถ ผนังทุกด้านตกแต่งด้วยภาพเขียนสี แต่อุโบสถนั้นถูกปล่อยให้ฝนรั่วลงมาลบภาพต่างๆ เลอะเลือนและหายไปเป็นส่วนมาก เหลือให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ภาพชุมนุมเทวดา และภาพชาดกบางตอน ดูเหมือนจะเป็นตอนเตมีย์ใบ้ด้วย

ด้านหลังพระประธานได้กั้นเป็นอีกห้องหนึ่งในห้องนั้นมีภาพเขียนบนผนังด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเลอะเลือนไปแต่ก็ยังพอดูได้ ดูเหมือนจะเป็นภาพรวมพุทธประวัติทั้งหมด เช่น ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะกำลังทรางคำนึงถึงความไม่แน่นอนของชีวิต (ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง) ทรงออกผนวช ทรมานกาย และมีรูปพระอินทร์กำลังเล่นซอสามสาย เพื่อให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นว่า ทางสายกลางนั้นเป็นทางที่ดีที่สุด ที่จะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้ และมีรูปหมู่เทวดา เทพธิดา มานมัสการ ซึ่งก็มีตอนที่พระพุทธองค์สำเร็จมครรคผล คือตรัสรู้แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ในภาพสีตามผนังนั้นมีรูปบ้านเรือนหรือศาลา เป็นแบบจีนหรือเก๋งจีนแสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะแบบจีนที่แพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยในรัชกาลที่ 3 และที่เพดานอุโบสถ แบ่งออกเป็น 4 ช่อง มีพื้นสีแดง ลวดลายเป็นรุปดอกไม้สีทอง เสาในอุโบสถเป็นสี่เหลี่ยมเขียนลวดลายแบบพิมพ์ผ้า

เพดานอุโบสถ
เพดานอุโบสถ

ภาพเขียนสีบนประตูอุโบสถ

ด้านในทั้ง 3 ประตู เป็นรูปเทวดารักษาประตูตามความเชื่อของชาวจีน บางคนบอกว่าเป็นรูป “งุ่ยเต็ง” แต่งกายเป็นนักรบถือทวนถือดาบรักษาประตู พร้อมกับเล่าต่อว่า ในสมัยสองพันมีมาแล้วที่เมืองจีน “ตงหงวน” ในสมัยพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ ครองราชย์และพระพุทธศาสนากำลังแพร่เข้าสู่ประเทศจีน พระองค์ทรงเลื่อมใส ทรงนับถือพระพุทธศาสนา ได้ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความสงบสุข และในการนั้นมีหมอดูคนหนึ่งดูสิ่งต่างๆ ได้แม่นยำมาก เลื่องลือไปทั่วทุกทิศ พญานาคตนหนึ่งอยากลองฤทธิ์จึงปลอมตัวเป็นคนไปถามหมอดูคนนั้นว่า ปีนี้ฝนจะตกมากน้อยเพียงใด หมอดูคนนั้นตรวจดูแล้ว จึงบอกว่าปีนี้ฝนจะตกน้อย พญานาคไม่เชื่อ หมอดูจึงพูดว่า หากไม่เชื่อและไม่เป็นไปตามที่บอกไว้แล้ว ให้มารื้อบ้านได้ และตนก็จะเผาตำราทิ้ง

พญานาคอยากเอาชนะหมอดูคนนั้น เมื่อถึงฤดูฝนจึงบันดาลให้ฝนตก น้ำท่วมบ้านเมือง ทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ผู้คนพลเมือง และสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ล้มตายเสียหายเป็นอันมาก

ความทราบถึง “เง็กเซียนฮ่องเต้” บนสวรรค์ทรงกริ้วเป็นอันมาก เพราะพญานาคบังอาจกระทำการฝืนกฎของเทวดาฟ้าดินเป็นเหตุทำให้ผู้คนล้มตายมาก จึงสั่งให้เทวดามาฆ่าพญานาคนั้นแต่เทวดาไม่อาจฆ่าได้เพราะ กลัวเป็นบาปจึงแนะนำให้ใช้ “งุ่ยเต็ง” ซึ่งเป็นมนุษย์สามวิญญาณ และเป็นนักรบคู่บารมีของ “พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้” ด้วย

ส่วนพญานาครู้สึกกระหยิ่มใจที่เอาชนะได้ จึงปลอมตัวไปหาหมอดูอีกเพื่อเย้ยหยัน ทันทีหมอดูเห็นเข้าก็ตวาดว่า เจ้าพญานาคผู้ไม่มีศีลธรรม ไม่มีความเมตตาปรานี จะเอาแต่ชนะอย่างเดียว เจ้ารู้หรือไม่ว่า “เง็กเซียนฮ่องเต้” พิโรธมากได้สั่งให้คนมาฆ่าเจ้าพรุ่งนี้ เวลาเที่ยง พญานาคได้ยินดังนั้นก็กลัวตายขึ้นทันที ขอให้หมอดูช่วย หมอดูแนะนำให้ไปทูลขอโทษ และขอความช่วยเหลือต่อพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ ซึ่งในที่สุดทรงรับที่จะให้ความช่วยเหลือ

วันรุ่งขึ้นพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ จึงออกอุบายชวน “งุ่ยเต็ง” เล่นหมากรุกพร้อมกับเลี้ยงสุรา อาหาร จน งุ่ยเต็งหมดสติและงุ่ยเต็ง เป็นมนุษย์ 3 วิญญาณ ออกรบได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ร่างกาย ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเที่ยง ท้องฟ้าก็มืดครึ้ม มีเสียงต่อสู้กันสนั่นหวั่นไหว ในที่สุดวิญญาณของงุ่ยเต็งก็ตัดหัวพญานาคหล่นลงมาในพระราชอุทยานของพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ เลือดสาดกระเซ็นไปทั่ว กลิ่นเหม็นตลบอบอวน นางสนมกำนันทั้งหลายต่างพากันอาเจียนและเป็นลมไปตามๆ กัน

ตกกลางคืนวิญญาณของพญานาคเป็นรูปคนหัวขาด เป็นผีเข้าไปหลอกหลอนพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ พร้อมกับชี้มือไปที่คอของตน ประหนึ่งว่า มาทวงศีรษะ เรื่องนี้ร้อนถึง งุ่ยเต็ง จึงต้องมาปราบอีก เมื่อบรรดาภูตผีปีศาจ เพียงได้ยินแต่ชื่อหรือเห็นเงาของงุ่ยเต็งเท่านั้นก็วิ่งหนีกันป่าราบไปเลย ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ จึงได้ตรัสสั่งให้เขียนภาพ งุ่ยเต็ง ติดไว้ตามบานประตูและหน้าต่างหรือที่ห้องบรรทมทุกบานตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ปีศาจพญานาคมิได้มารบกวนอีกเลย

ดังนั้นชาวจีนจึงนับถือ และนิยมเขียนรูปหรือวาดภาพงุ่ยเต็งไว้ตามประตูหน้าต่าง ในปราสาทราชวัง ศาลเจ้า โบสถ์ และตามบ้านเรือน โดยทั่วไป

การที่บานประตูวัดใหม่ทองเสนมีรูปงุ่ยเต็งนั้นก็คงเป็นเพราะความนิยมศิลปะแบบจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

ภาพเขียนสีบนหน้าต่างอุโบสถ

อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ บอกว่านั้นเป็นการเขียนสีให้เป็นรูปเทวดา ตามประเพณีและนิยมเขียนไว้ตามประตูหน้าต่างทั้งหลาย คือรูป ทวารบาล อันเป็นภาพแบบศิลปะไทย บางรูปก็มีฝีมือในการเขียนสูงมาก อาจะเป็นฝีมือการเขียนรูปของช่างในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็เป็นได้ แต่สำหรับบานหน้าต่างอุโบสถในห้องด้านหลังพระประธานนั้นได้เขียนเป็นรูปเครื่องตั้งดอกไม้ของชาวจีนไว้

พระพุทธรูปปางต่างๆ

สำหรับพระปางต่างๆ ที่บรรจุอยู่ภายในหลังพระประธานนั้น กล่าวกันว่า โบราณาจารย์ มักจำนำขึ้นไปไว้ที่ช่องผนังด้านบนอันสูงเกือบจรดเพดานอุโบสถโดยได้เจาะเป็นช่องๆ พอเหมาะไว้ และแต่ละช่องได้นำเอาพระพุทธรูปปางต่างๆ ไปใส่ไว้ เช่น ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางประทานพร ไปตั้งไว้และเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หล่อด้วยทองสำริด ทั้งเป็นช่องป้องกันการเสียหายได้ดีอีกด้วย

พระพุทธรูปที่สำคัญในพระอุโบสถอีกองค์ก็คือ “พระไสยาสน์” หรือ “พระนอน” ที่พระธรรมอุดม (ถึก) ได้สร้างพระนอนองค์จำลองนี้ขึ้น โดยนำแบบมาจากวัดเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ มาประดิษฐานไว้ในโบสถ์และได้เอาผงเสกของหลวงปู่โตไปบรรจุใต้ฐานพระนอนองค์นี้

พระนอน จำลองมาจากวัดโพธิ์
พระนอน จำลองมาจากวัดโพธิ์

พระประธานในอุโบสถ

พระประธานในอุโบสถนั้น ท่านกล่าวว่าเป็นการสร้างด้วยปูนปั้นเป็นปางมารวิชัย (ชนะมาร) และที่ฐานพระประธานเป็นการสร้างเป็นลวดลายบัวจำหลัก และมีผ้าทิพย์อันแสดงให้เห็นว่าเป็นศิลปะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หอพระไตรปิฎก

หอพระไตรปิฎกนั้นได้สร้างขึ้นหลังจากสร้างอุโบสถเสร็จแล้ว เป็นการสร้างด้วยอิฐถือปูน เช่นเดียวกับอุโบสถ โดยจัดสร้างไว้ด้านหลังอุโบสถถึงจะชำรุดทรุดโทรมไปมากก็ยังมีริ้วรอยแห่งความสวยงามอยู่มาก เช่น หน้าบันเป็นลายปูนปั้นงดงามมาก และที่บานประตูเป็นลายรดน้ำ ตามผนังและเพดานเป็นลายดอกไม้ และตู้ประไตรปิฎกเป็นลายรดน้ำที่งดงามมาก

สำหรับหอพระไตรปิฎกนั้น ปัจจุบันได้ปฏิสังขรณ์ใหม่เสร็จแล้ว ให้อยู่ในสภาพลักษณะเดิมทุกประการ และมีความสวยงามเหมือนเดิม จะเห็นได้ว่าช่างสมัยโบราณมีความละเอียดมาก

หอระฆัง

ได้สร้างด้วยอิฐถือปูน เหมือนอุโบสถและหอพระไตรปิฎก สร้างแบบธรรมดาง่ายๆ ไม่มีลวดลายอะไร เดิมนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดไม่แหลม ชำรุดทรุดโทรมมาก แต่ที่มียอดแหลมตามที่เห็นนี้ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ประมาณปี พ.ศ. 2515

หอระฆัง
หอระฆัง

ท่านอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ได้สันนิศฐานว่า หากได้พิจารณาดูลวดลายต่างๆ ตลอดจนรูปร่างของอุโบสถและหอไตรฯ แล้วลงความเห็นว่าอุโบสถนี้ สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับวัดสุทัศน์ และวัดโพธิ์ แต่วัดทั้งสองนั้น พระมหากษัตริย์ทรงสร้างจึงใหญ่โตสวยงามมาก ส่วนวัดใหม่ทองเสน สร้างขึ้นโดยเจ้าคุณพระธรรมอุดม(ถึก) อันเป็นสามัญชนธรรมดา จึงต้องด้อยกว่ากันทุกด้าน