ถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่โคราช ให้เป็นอริยสัจ

๑. ทุกข์อย่างแท้จริง คือ เพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบพบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น โดยย่อคือ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕

คนในโลกมีทุกข์เพราะเหตุเหล่านี้ เราจะสังเกตได้ว่าการฆ่ากันมีทั่วโลก เช่น สงคราม ระหว่างเผ่าพันธ์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเผ่าตนเองหรือของประเทศตน ฆ่ากันแบบไม่ต้องมีเหตุผล มีการสูญเสียมากบ้างน้อยบ้างฯลฯ

***แต่ว่าเหตุการณ์ที่โคราชนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดใกล้ตัวเรา และเกิดกับคนรักของพวกเรา จึงทำให้ความเศร้ามีความรุนแรงและหดหู่ใจมาก ทำให้รู้สึกว่าสูญเสียเป็นอย่างมาก ไม่สามารถมีอะไรทดแทนได้

สรุป พวกเราทุกข์เพราะยึดในขันธ์ ๕ และใช้ชีวิตประมาทในวัย ลืมพิจารณามรณสติ ลืมทำใจ

๒. เหตุทำให้เกิดทุกข์อย่างแท้จริง คือ ความทะยานอยากนี้ทำให้มีภพอีก เป็นไปกับความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่ ความทะยานอยากในความมี ความเป็น ความทะยานอยากในความไม่มี ไม่เป็น

ความอยาก มีพลังบวกกับ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้เดียวมีพลังมหาศาล คือ อยากได้ทรัพย์ อยากได้เกียรติ ผสมกับการไม่อยากเสียทรัพย์สมบัติไป ยอมกันไม่ได้ บวกกับ ไฟคือโทสะเผาผลาญตนและผู้อื่นให้ไหม้ เหมือนไฟป่าลามไปทั่วสัตว์น้อยสัตว์รวมทั้งพืชพันธ์ธัญญาหารก็สูญเสียไปด้วย เราจะเห็นคนตายเป็นจำนวนมาก เพราะไฟโทสะลามไปทั่วเช่นนั้น

ไฟคือ โมหะหลงผิดคิดว่าวิธีที่ตัดสินใจทำนั้นดีที่สุด และบุคคลที่ทำนั้น มีทักษะ ทางกาย และทางสติปัญญา มีพัฒนาการอย่างดี การป้องกันตัว การเอาตัวรอด เรียกว่า ขั้นจินตมยปัญญา ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ คือ ถ้าทำดีก็มีคุณมหาศาล ถ้าทำผิดก็มีผลมหาศาลเช่นกัน

กรณีที่เกิดขึ้น อยากให้มองว่า ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยกัน เราผู้อยู่ในเหตุการณ์ต้องระลึกเสมอว่าไม่ควรใช้ชีวิตประมาท พระพุทธเจ้าแสดงไว้ว่า อย่าประมาท แม้ไฟเพียงเล็กน้อย มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า ไฟที่เกิดจากโทสะมันเผาทั้งชาตินี้และชาติหน้า เข้าใจง่ายๆว่า พรุ่งนี้หรือวันต่อๆไปเรายังเศร้าไปอีกนาน

สรุปเหตุที่เกิดเรื่องนี้เพราะ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เพิ่มพลังบวกกับ ราคะ โทสะ โมหะ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนถ้าไม่ฝึกควบคุมก็จะเป็นเช่นนี้ได้เหมือนกัน

๓. ความดับทุกข์ คือ สิ้นกำหนัด โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้น ความสละตัณหานั้น ความวางตัณหานั้น การปล่อยตัณหานั้น ความไม่พัวพันแห่งตัณหานั้น

เหตุการณ์นี้เราจะดับทุกข์อย่างไร
แนะนำว่า ฝึกทำใจ สละความอยากทั้งหลาย วางใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงแปรสภาพไป ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ต้องใช้ภาวนาปัญญาเท่านั้นจึงจะทำได้ พระพุทธเจ้าทำให้เห็นแล้ว พระอริยสงฆ์ทำให้เห็นแล้ว

ภาวนาปัญญา ไม่มีโทษ มีแต่คุณอย่างเดียว ผู้ทำเท่านั้นจึงจะเห็นเอง ฟังก็ไม่เข้าใจ อ่านตำราก็ไม่เข้าใจถ่องแท้ ต้องลงมือทำเอง เห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ต่อสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นกับตน เกิดดับ เกิดดับ อยู่เช่นนั้น

๔. ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ มีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลส คือ ปัญญาอันเห็นชอบความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ ความเลี้ยงชีวิตชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งจิตชอบ

วิธีการ คือทางสายนี้เท่านั้น ปัญหาทั้งมวลเกิดขึ้นที่ใจ ก็ต้องดับที่ใจ ให้อภัย เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ผิดก็รับโทษไปตามกฎหมาย ใจก็อภัยไม่ผูกโกรธ เราได้ความเมตาจากทุกคนแล้ว มันสวยงามและมีกำลังมหาศาล

***หลักการพูดง่าย แต่ทำยากเพราะเรายังตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส
***แต่จำเป็นต้องทำ เพราะมีผู้ทำเป็นตัวอย่างแล้วได้ผล

ขอบคุณเจ้าของภาพ