เกี่ยวกับวัด

Mission & History

ประวัติวัดใหม่ทองเสน

วัดใหม่ทองเสน

ท่านเจ้าคุณถึก ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมอุดม และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี) ดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมกิตติ ผู้มีความรู้จักมักคุ้นกันมานาน ได้ชักชวนกันมาสร้างวัดใหญ่ทองเสนขึ้นให้ชื่อว่า วัดใหญ่ตามความประสงค์ของ เจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี) และให้ต่อท้ายด้วยคำว่าทองเสน เพื่ออุทิศให้โยมบิดามารดาของท่านเจ้าคุณถึก

วัดใหม่ทองเสน

ตามหนังสือประวัติวัดใหม่ทองเสน พ.ศ. 2513 ได้บันทึกไว้ว่า วัดใหม่ทองเสน สร้างโดยพระธรรมอุดม (ถึก) ร่วมกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี) ขณะที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิตติ เนื่องจากพระธรรมอุดม (ถึก) เป็นพระคู่เทศน์กับเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี)

วัดใหม่ทองเสนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 พระธรรมอุดม (ถึก) ประสงค์อุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมบิดามารดาของท่านที่ชื่อทองและเสน จึงให้ชื่อว่า “วัดใหญ่ทองเสน” ในเมื่อพระธรรมอุดม (ถึก) เป็น พระคู่เทศน์หน้าพระที่นั่งด้วยกันกับเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี) ท่านคงจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน คงจะอ่อนแก่กว่ากันไม่มากนัก ประมาณ 6-7 ปี ทั้งเป็นพระมหาเถระที่สำคัญมีชื่อเสียงพอเพียงกัน มีทรรศนะต่างๆ คล้ายกัน และชอบพอสนิทสนมกันมาก จึงได้มาสร้างวัดใหญ่ทองเสนด้วยกัน

เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 และมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ขณะที่อายุ 84 ปี ส่วนพระธรรมอุดม (ถึก) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2338 และมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2396 ขณะที่อายุ 58 ปี

ในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น กรุงเทพฯ ยังไม่เจริญบางกระบือและบางซื่อยังเป็นป่าดงอยู่ พื้นที่ดินไม่มีราคาค่างวดอะไร เมื่อใครอยากจะสร้างวัดก็ง่าย ไม่จำเป็นต้องซื้อขายเพียงแต่บอกบุญชาวบ้าน หรือชาวไร่ ชาวสวน ว่าจะสร้างวัดเท่านั้น ก็อนุโมทนายกที่ให้เลย ดั่งการที่สร้างวัดใหญ่ทองเสน ก็สร้างลึกเข้าไปไม่ได้ติดคลองบางซื่อเลย สมัยก่อนนั้นการสัญจรไปมาต้องอาศัยทางลำคลองเป็นสำคัญ ดังนั้นที่ดินที่อยู่ริมคลองนั้น มักจะมีเจ้าของทำมาหากินเป็นประจำทั้งนั้น แต่ถึงที่จะมีเจ้าของอยู่บ้าง หากอยู่ลึกเข้าไปในป่าดงแล้ว ไม่ค่อยหวงแหนกันนัก ท่านพระธรรมอุดม (ถึก) จึงได้ที่สร้างวัดลึกเข้าไปในป่า ที่เป็นไร่สวนในสมัยนั้น ภายหลังได้ขุดเป็นคลองเพื่อต่อเชื่อมออกมาสู่คลองบางซื่อด้านหนึ่งและอีกด้านหนึ่งไปต่อเชื่อมกับคลองบางกระบือ จึงเรียกคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า คลองวัดใหญ่ทองเสน (คลองวัดใหม่ทองเสน) โดยใช้ตามชื่อวัดนั่นเอง มีภาพอันเป็นผังที่กรมการศาสนาได้ทำไว้ ซึ่งเป้นแผนที่ของห้องพิมพ์ กรมแผนที่กรุงเทพฯ เมื่อ 20 ตุลาคม ร.ศ. 126 ตรงกับ พ.ศ. 2450 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เขียนไว้ว่า “สำเนาแผนที่เข้าหลวงแผนกสาธารณสถาน “ หมายถึง การปรับปรุงบ้านเมืองในสมัยนั้นจัดทำที่ดินซึ่งรกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ต่อมาในสมัย ร.ศ. 127 ก็ได้ตัดถนนผ่านที่อันนี้คือ ถนนทหาร

ผังวัดใหม่ทองเสน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี) กับท่านเจ้าคุณพระธรรมอุดม (ถึก) ผู้ที่ร่วมกันสร้างวันใหญ่ทองเสน หรือวัดใหม่ทองเสน และองค์พระป่าเลไลยก์ คงได้กำหนดพื้นที่ไว้มากมายเป็นพันไร่ จากคลองบางซื่อจรดคลองบางกระบือ เพราะอยากให้เป็นวัดที่ใหญ่โต เช่นเดียวกันกับพรองค์สำคัญต่างๆ หากจะก่อสร้างสิ่งใดในทางศาสนาแล้วต้องพยายามสร้างให้ใหญ่โตที่สุดเท่าที่จะทำได้จึงตั้งชื่อไว้ว่า วันใหญ่ นำหน้า ชื่อโยมบิดามารดา มาต่อท้าย ได้ชื่อว่า วัดใหญ่ทองเสน โดยที่เจ้าพระคุณทั้งสองเห็นพ้องกัน คือมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน

หลังจากเจ้าพระคุณทั้งสองได้สร้างอุโบสถและหอไตรฯ เสร็จแล้วต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรสี) จึงได้วางผังออกแบบสร้างพระป่าเลไลยก์โดยจำลองมาจากพระป่าเลไลยก์จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกันกับท่านเจ้าคุณพระธรรมอุดม (ถึก) ได้สร้างองค์พระด้วยปูนขาวผสมทรายและน้ำอ้อย แล้วลงรักเป็นสีดำให้สูง 9 เมตร ครั้งแรกเริ่มนั้นเป็นองค์สีดำทั้งหมดต่อมามีผู้เอาสีทองมาทาและปิดทองปัจจุบันจึงเป็นลักษณะพระทองคำ

เปลี่ยนชื่อเป็นวัดใหม่ทองเสน

ต่อมาเมื่อสิ้นบุญท่านเจ้าพระคุณทั้งสองแล้ว วัดใหญ่ทองเสน ก็กลายเป็นวัดร้าง ปล่อยให้ต้นไม้น้อยใหญ่และเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมไปหมด ทั้งอุโบสถ หอพระไตรปิฎก และวิหารองค์พระป่าเลไลยก์ และในขณะนั้นวัดใหญ่ทองเสนนับว่าเป็นวัดที่มีปูชนียสถานใหญ่โตมาก ชาวบ้านอาจเข้าใจว่าเป็นคนละวัดเพราะมีสิ่งปกคลุมไปทั่ว ที่เห็นมีอุโบสถ เรียกว่า วัดใหญ่ทองเสน และส่วนที่เห็นมีพระป่าเลไลยก์ ก็เรียกว่า วัดป่า (ป่าเลไลยก์) คล้ายกับว่าเป็นวัดแฝด เพราะอยู่ติดชิดกันมากแม้แต่ในผังก็เขียนลงไปว่า วัดใหญ่ทองเสนและวัดป่า

กล่าวกันว่า พระอธิการปั้น ได้เข้ามาจำพรรษาที่วัดใหม่ทองเสน ประมาณปี พ.ศ. 2430 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นเป็นวัดร้างไม่มีพระภิกษุอยู่ประจำเลยแม้แต่รูปเดียว พระอธิการปั้นได้ตรวจดูสภาพวัด เห็นว่าอุโบสถ หอไตร และวิหาร ทั้งองค์พระป่าเลไลยก์ยังมีความสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเสียหาย แต่บริเวณวัดนั้นเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่และเถาวัลย์ ขึ้นปกคลุมไปทั่ววัด ท่านจึงได้ดำเนินพัฒนาร่วมกับชาวบ้าน ทำการหักล้างถางพง บูรณปฏิสังขรณ์

เกี่ยวกับพระอธิการปั้นนั้น พระอธิการบุ่งผู้เป็นศิษย์ ได้บอกว่า ท่านอาจารย์ (พระอธิการปั้น) เข้ามาอยู่ประจำที่วัดใหม่ทองเสนนี้ ประมาณปี 2430 แต่มิได้บอกว่ามาจากที่ใด บอกแต่ว่าอยู่ในเมืองหลวง (กรุงเทพ ฯ) เหมือนกัน ส่วนท่าน (พระอธิการบุ่ง) เคยอยู่ที่วัดราชนัดดามาก่อน หรืออาจะอยู่วัดเดียวกันก็ได้ เพราะเป็นศิษย์และอาจารย์ซึ่งกันและกัน พระอธิการบุ่งได้กล่าวว่า เมื่ออาจารย์ (พระอาจารย์ปั้น) มาอยู่วัดใหม่ทองเสนใหม่ๆ ท่านบอกว่ามีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมที่อุโบสถ หอไตร ตลอดทั้งวิหารพระป่าเลไลยก์ไปทั่ว มีต้นไม้ใหญ่และเล็กมากจนไม่มีบริเวณวัด ทำให้วัดทรุดโทรมมาก ไม่มีบ้านเรือนชาวบ้าน มีแต่กองทหาร 2 หน่วย คือ กองพันทหารม้า อยู่ทางบางกระบือและกองพัน ปตอ.  ก็อยู่ติดคลองบางซื่อ ไม่มีบ้านครอบครัวทหารเลย ต้องออกไปรับบิณฑบาตไกล ผ่านเรือกไร่ สวน และข้ามคลองเล็กๆ น้อยๆ ลำบากมาก ท่านได้ให้ชาวบ้านชาวสวนมาช่วยหักล้างถางพง จนวัดสะอาดขึ้นผู้คนเริ่มเข้ามาวัด และมาไหว้สักการะหลวงพ่อพระป่าเลไลยก์ อาจารย์กล่าวว่า ทั้งวัดใหญ่ทองเสนและวัดป่าเลไลยก์รวมกันแล้วเหลือพื้นที่ไม่ถึง 10 ไร่ ท่านจึงให้รวมเป็นวัดเดียวกันโดยให้ชื่อใหม่ว่า “วัดใหม่ทองเสน” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

หลวงปุ่บุ่ง หรือพระอธิการบุ่ง เปสโล บอกว่า ท่านเป็นศิษย์ พระอธิการปั้น และอยู่กับ พระอธิการปั้นมานาน ถ้าท่านกล่าวถึงพระอธิการปั้นท่านจะพูดว่า “ท่านอาจารย์” เสมอและพระอธิการบุ่ง กล่าวว่า ท่านอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า หลังจากบวชมาแล้วประมาณ 7-8 พรรษา ได้เข้าไปกราบสมเด็จฯ อยู่ 4-5 ครั้ง ขณะนั้นสมเด็จฯ อายุประมาณ 80 กว่าแล้ว แต่ยังมีความจำดีมาก ท่านจะพูดถึงวัดใหญ่ทองเสนและองค์พระป่าเลไลยก์เสมอ ว่าเป็น พระที่อยู่ในป่ามีแต่ความสงบ ดังที่พระพุทธองค์ได้หนีจากหมู่พระภิกษุที่ไม่มีความสามัคคีกัน มีแต่ความวุ่นวาย พระองค์หลีกหนีไปอยู่ที่ป่ารักขิตวัน มีแต่ช้างกับลิงเท่านั้นมาดูแลอุปัฏฐาก ทุกอย่างมีแต่ความสงบสุข สมเด็จฯ บอกว่า นั่นคือ สภาพแวดล้อม ความเป็นไปในขณะนั้นให้เกิดหรือสร้างองค์พระป่าเลไลยก์ขึ้น และก็บอกว่าองค์พระป่าเลไลยก์นั้นมีความสมบูรณ์อยู่ในองค์พระทุกอย่าง เพราะได้ร่วมกันกับเจ้าคุณพระธรรมอุดม (ถึก) และอาจารย์อีกหลายท่านได้ ทำพิธีอยู่เป็นเดือนหากมีเวลา ควรไปดูไปปฏิบัติธรรมที่นั้นจะได้รับความสงบสุขมาก เพราะเป็นวัดอยู่นอกเมืองและมีต้นไม้ใหญ่ๆทั้งนั้น ที่กล่าวมานี้ เนื่องจากพระอธิการบุ่งได้สนทนาเรื่อง การที่จะพัฒนาวัดใหม่ทองเสนและเล่าความเป็นมาของวัดให้พระอาจารย์พิชัย ธมมปาโล และพันเอก(พิเศษ)เดชา กาลบุตร(ไวยาวัจกรวัดใหม่ทองเสน) พร้อมด้วยคุณนายแฉล้ม กาลบุตร ฟังในปี พ.ศ. 2513 พระอธิการบุ่ง บอกว่า ที่จำได้ดีนี้เพราะได้บันทึกไว้ในสมุดด้วย เนื่องจากอาจารย์บอกให้เขียนไว้เพื่ออ่านดูความเป็นมาของ วัดบ้าง จึงได้เขียนไว้และท่านก็เอาลายมือเก่าๆ ที่เขียนไว้มาให้ดู